Skip to main content

กองทัพเรือ ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จัดกิจกรรม น้อมดวงใจชาวศิริราช ตามรอยพระราชปณิธานพระภูมิพล

           เมื่อวันที่ ๑๓ พ.ย.๕๙ เวลา ๑๗๐๐ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ และศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ นายแพทย์ ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พร้อมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ของกองทัพเรือ ประกอบด้วย พล.ร.อ.นริส ประทุมสุวรรณ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ และ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ได้นำกำลังพลกองทัพเรือ จำนวน ๓๘๙ นาย แยกเป็น นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ จำนวน ๘๙ นาย และกำลังพลจากฐานทัพเรือกรุงเทพ จำนวน ๓๐๐ นาย ตลอดจนบุคลากร จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมในกิจกรรมน้อมดวงใจชาวศิริราช ตามรอยพระราชปณิธานพระภูมิพล ซึ่ง กองทัพเรือ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดกองอำนวยการร่วมถวายความปลอดภัยกองทัพเรือ ณ โรงพยาบาลศิริราช และ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อ ถวายความอาลัย และเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ ลานพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ภายในโรงพยาบาลศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 


          สำหรับการจัดกิจกรรม น้อมดวงใจชาวศิริราช "ตามรอยพระราชปณิธานพระภูมิพล" เริ่มด้วย การบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์จากวงดุริยางค์ราชนาวี นำเครื่องดนตรี 130 ชิ้น 160 ชีวิต  โดยมี นาวาเอกภาสกร  สุวรรณพันธ์ ผู้บังคับกองดุริยางค์ทหารเรือเป็นผู้ควบคุมวง โอกาสนี้  ยังได้ประพันธ์เพลงขึ้นใหม่ เพื่อถวายแด่พระองค์ท่าน ซึ่งจะมาบรรเลงครั้งนี้เป็นครั้งแรกในงาน ชื่อเพลง“แสงเทียนแสงฟ้า” นอกจากนี้ยังมีเพลงพระราชนิพนธ์ที่นำมาบรรเลงในวันนี้ ได้แก่ เพลงแสงเทียน, อาทิตย์อับแสง, ชะตาชีวิต, ลมหนาว,ในดวงใจนิรันดร์, แผ่นดินของเรา,ยามเย็น, ในหลวงของแผ่นดิน, ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป, แสงทิพย์, แสงเดือน, ของขวัญจากก้อนดิน, ยามค่ำ, แว่ว, สายฝน ซึ่งทุกท่านที่มาร่วมงานสามารถร่วมร้องคลอไปด้วยกัน


         เวลาประมาณ ๑๖๓๐ จะเป็นการถวายสักการะต่อเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ เริ่มด้วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นำคณะผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คณาจารย์ และบุคลากรศิริราช ชุดที่สอง พลเรือตรีวศินสรรพ์ จันทวรินทร์ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือกรุงเทพ นำกำลังพลฐานทัพเรือกรุงเทพ ชุดที่สาม ฝ่ายการพยาบาล รพ. ศิริราช นำโดย นางพิทยา ถนัดช่าง และปิดท้ายด้วยนักศึกษาวิทยาเขตบางกอกน้อย


          จากนั้นเวลา ๑๗๐๐ กำลังพลฐานทัพเรือกรุงเทพ และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จำนวน ๑๔๐ คน ร่วมแปรอักษรหมายเลข ๙ อันหมายถึง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม ส่งผลให้ประเทศชาติบ้านเมืองและประชาชนเปี่ยมไปด้วยความสุข นอกจากนี้ยังหมายถึงการครองหัวใจคนทั้งแผ่นดินเอาไว้อีกด้วย ด้วยเพราะการทรงงานของพระองค์ ทรงนึกถึงแต่ความสุขของประชาชนเป็นอันดับแรก ดังที่ ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล เขียนไว้ในหนังสือ “ใต้เบื้องพระยุคลบาท” ว่า เคยรับสั่งกับพวกเราครั้งหนึ่งว่า “ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้ผู้อื่น” หลังจากนั้น ศาสตราจารย์ เกียรติยศ นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ เล่าถึงความผูกพัน ในหลวงรัชกาลที่ ๙ กับศิริราช จบแล้วจะเป็นพิธีแสดงความอาลัย โดยมี พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นผู้กล่าวแสดงความอาลัยแทน พสกนิกรที่มาร่วมในพิธี จากนั้นทุกท่านยืนสงบนิ่งเป็นเวลา ๘๙ วินาที ตามด้วยการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และจุดเทียนขาวให้สว่างไสวทั่วบริเวณลานพระราชานุสาวรีย์ฯ เพื่อร่วมส่งใจแสดงความอาลัยน้อมเกล้าฯ ถวายต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ต่อด้วยเพลงต้นไม้ของพ่อ* และเพลงความฝันอันสูงสุด จบด้วยการบันทึกภาพประวัติศาสตร์เพื่อเก็บไว้ในความทรงจำของทุกคน


          รายละเอียดเพิ่มเติม
               * ต้นไม้ของพ่อในที่นี้ หมายถึง “ต้นศรีตรัง” ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙  ได้ทรงปลูกพระราชทานไว้ให้กับชาวศิริราช เมื่อวันที่ ๖ ส.ค.๕๔ แม้หลายท่านอาจจะเข้าใจว่า ต้นไม้ต้นนี้ได้เหี่ยวเฉาไป แต่แท้จริงแล้ว ต้นไม้นี้ยังมีชีวิต และได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ซึ่งรวมถึงว่า เราทุกคนในที่นี้ก็จะร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ต่อไปอย่างยั่งยืน
               * ประวัติวงดุริยางค์ราชนาวี กองดุริยางค์ทหารเรือ ในปี พ.ศ.๒๔๗๘ ดนตรีของทหารเรือซึ่งมีชื่อเดิมว่า “กองแตร” ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หมวดดุริยางค์ทหารเรือ” ขึ้นการบังคับบัญชากับสถานีทหารเรือกรุงเทพ (ปัจจุบันเป็นฐานทัพเรือกรุงเทพ) ได้มีการขยายอัตรากำลังพลเพิ่มขึ้นและแบ่งส่วนราชการออกเป็น ๒ แผนก คือ แผนกแตรวง และ แผนกซอวง ซึ่งแผนกซอวงนี้ก็คือ “วงดุริยางค์ราชนาวี” นั่นเอง จึงนับได้ว่า “วงดุริยางค์ราชนาวี” ได้ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๗๘ เป็นต้นมา
                 กองทัพเรือก่อตั้งวงดุริยางค์ราชนาวี เมื่อปี พ.ศ.2478 และจากนั้นได้พัฒนาก้าวหน้ามาเป็นลำดับจนสามารถแสดงคอนเสิร์ตเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๘ พ.ย.๒๕๐๒ เวลา ๒๐๓๐ ณ หอประชุมวัฒนธรรม โดยใช้ชื่อ "ออร์เคสตรัลคอนเสิร์ต" โดยมี เรือตรี สมัคร เศวตดิษ เป็นผู้อำนวยเพลง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๓ ได้แสดงคอนเสิร์ตอีก ๓ ครั้ง โดยแสดงในวันศุกร์ที่ ๘ ก.ค. พ.ศ.๒๕๐๓ และวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ ก.ค. พ.ศ.๒๕๐๓ ณ หอประชุมวัฒนธรรม และหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในชื่อ "ราชนาวีคอนเสิร์ต" และ เรือตรี สมัคร เศวตดิษ เป็นผู้อำนวยเพลง ส่วนครั้งที่ ๓ กองทัพเรือได้จัดงานแสดงดนตรี "อานันทมหิดลคอนเสิร์ต" ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ ต.ค. พ.ศ.๒๕๐๓ ณ หอประชุมวัฒนธรรม ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล
                 ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชปรารภแก่ผู้บัญชาการทหารเรือซึ่งเป็นประธานกรรมการจะจัดงานแสดงดนตรี "อานันทมหิดลคอนเสิร์ต" ด้วยมีพระราชประสงค์ให้กองทัพเรือจัดแสดงดนตรี เพื่อหารายได้บำรุงสภากาชาดไทยบ้าง กองทัพเรือจึงได้จัดการแสดงดนตรีกาชาดคอนเสิร์ตต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๔ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๕๙ เป็นจำนวน ๔๓ ครั้ง โดยการแสดงทั้ง ๔๓ ครั้งที่ผ่านมา สามารถค้นหารายละเอียดได้ที่ www.navy.mi.th “วงดุริยางค์ราชนาวี” เป็นวงดนตรีที่มีภารกิจการบรรเลงมากวงหนึ่ง ทั้งนี้มิใช่เพียงงานคอนเสิร์ตเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการบรรเลงในงานราชพิธี รัฐพิธี และงานสำคัญต่างๆ อยู่เป็นประจำ จึงนับได้ว่า “วงดุริยางค์ราชนาวี” เป็นวงดนตรีที่ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จอย่างสูงในวงการดนตรีของไทยในปัจจุบัน
                 พระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชต่อดุริยางค์ราชนาวี  จากในคราวที่ ฯพณฯ นายคาร์ล คาร์สเทนส์ ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารรัฐเยอรมันและภริยา เดินทางมาเยือนประเทศไทย และได้มีงานเลี้ยงรับรองขึ้น ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๗ คราวนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานข้อคิดและคำแนะนำในการแสดงดนตรี แก่ นาวาตรี วีระพันธ์ วอกลาง (ยศในขณะนั้น) ผู้อำนวยการเพลงวงดุริยางค์ราชนาวี 
                 คราวที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  เสด็จ ฯ ทอดพระเนตรการแสดงกาชาดคอนเสิร์ตในปี พ.ศ.๒๕๐๗ ทรงเห็นว่าเครื่องลมไม้ที่ใช้บรรเลงในวง มีสภาพเก่าและคุณภาพของเสียงไม่ได้มาตรฐาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องดนตรีส่วนพระองค์ จำนวน ๓ ชิ้น ให้แก่ กองดุริยางค์ทหารเรือ ประกอบด้วย ปี่บีแฟลต คลาริเนต พระราชทานเมื่อวันที่ ๗ มิ.ย. พ.ศ.๒๕๐๗ ปี่โอโบ พระราชทาน เมื่อวันที่ ๑ ก.พ. พ.ศ.๒๕๐๙ และปี่บาสซูน พระราชทานเมื่อวันที่ ๒๕ มิ.ย. พ.ศ.๒๕๑๖  และต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ เม.ย. พ.ศ.๒๕๒๙ ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ทหารเรือมีเครื่องเก่า ๆ มาก ควรจัดพิพิธภัณฑ์ดนตรีขึ้น” ซึ่งหลังจากนั้นพิพิธภัณฑ์ดนตรีที่กองดุริยางค์ทหารเรือ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา
                                                                                                              ข้อมูล สลก.ทร. ๑๔ พ.ย.๕๙

Comments

Popular posts from this blog

กง.ทร.พัฒนาระบบ E-mobile Slip ใช้ตรวจสอบข้อมูลใบจ่ายเงินเดือนผ่านสมาร์ทโฟน

เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ข้าราชการกองทัพเรือ กองทัพเรือ โดยกรมการเงินทหารเรือ ได้พัฒนาระบบ E-mobile Slip เพื่อให้ข้าราชการกองทัพเรือสามารถตรวจสอบข้อมูลใบจ่ายเงินเดือนได้ด้วยตนเองผ่านทางระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Smart Phone) ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้ เข้าลงทะเบียนผู้ใช้งานครั้งแรก เพื่อตั้งค่ารหัสผ่านในเว็บไซต์กรมการเงินทหารเรือที่ http://info.navy.mi.th/finance แบนเนอร์ “สลิปเงินเดือน” หลังเข้าลงทะเบียนผู้ใช้งานแล้ว โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ Android สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมผ่าน Play Store โดยค้นหาคำว่า “e-slip” และติดตั้งโปรแกรมในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ iOS ให้เปิด Browser และเข้าเว็บไซต์ http://www.finance.navy.mi.th/mobile_https หรือด้วยการสแกนผ่านบาร์โค้ดในเว็บไซต์กรมการเงินทหารเรือ จากนั้นจึงเข้าใช้งานด้วยรหัสผู้ใช้งานเป็นเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก และรหัสผ่านที่ตั้งไว้ ข้อมูล กง.ทร. ๒๘ ก.ย.๕๙

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุสมเด็จพระปิ่นเกล้า งานสวัสดิการ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ

โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ได้เปิดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุสมเด็จพระปิ่นเกล้า “พฤฒเวชโฮมแคร์” ให้บริการดูแลผู้สูงอายุ โดยทีมงานคุณภาพมาตรฐาน เพื่อความสุขสบายของคนที่คุณรัก ภายในบรรยากาศที่อบอุ่นเสมือนบ้าน รับผู้สูงอายุชาย – หญิง อายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป            นอกจากนั้นยังจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ ตามสภาพร่างกาย และความเหมาะสมของผู้เข้ารับการบริการ เช่น การทำบุญตักบาตร การสวดมนต์ การสนทนา โดยใช้หลักจิตวิทยาเพื่อเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมอง การออกกำลังกาย กิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีบริการแพทย์ตรวจเยี่ยม ๒ ครั้งต่อเดือน แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูตรวจเยี่ยม ๑ ครั้งต่อเดือน พยาบาลวิชาชีพเยี่ยมประเมิน ๔ ครั้งต่อเดือน ผู้ที่สนใจติดต่อได้ที่ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุสมเด็จพระปิ่นเกล้า งานสวัสดิการ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน แขวงบุคคโลเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์หมายเลข ๐๖ ๑๖๑๕ ๒๖๕๒ และ ๐๘ ๖๓๘๒ ๗๖๙๙                                                                         ข้อมูล รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ

กิจการการฌาปนกิจสงเคราะห์แห่งราชนาวีให้บริการจัดการศพแบบครบวงจร

ฌาปนสถานกองทัพเรือ วัดเครือวัลย์วรวิหาร ให้บริการจัดการศพแบบครบวงจร โดยให้คำแนะนำในการแจ้งเสียชีวิตและจัดการศพ, ติดต่อประสานงานกับการฌาปนกิจสงเคราะห์แห่งราชนาวี, จัดหาหีบศพพร้อมรถบริการรับ-ส่งศพ, จัดหาดอกไม้ประดับหน้าศพและพวงหรีด, จัดหาเครื่องไทยธรรมพร้อมดอกไม้ถวายพระ, จัดหาอาหารและเครื่องดื่ม, จัดหาดอกไม้จันทน์พร้อมช่อเชิญประธาน และติดต่อแนะนำสถานที่ในการลอยอังคาร สอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๖๕ ๑๐๑๓, ๐ ๒๔๗๕ ๕๑๖๒, ๐ ๒๔๗๕ ๓๒๑๙ ข้อมูล กิจการการฌาปนกิจสงเคราะห์แห่งราชนาวี ๑๔ พ.ค.๕๘