Skip to main content

กองทัพเรือจัดงานวันคล้ายวันสถาปนาโรงเรียนนายเรือ

          เมื่อวันที่ ๒๐ พ.ย.๕๙ เวลา ๐๙๓๐ พลเรือเอก ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานการจัดงานวันคล้ายวันสถาปนาโรงเรียนนายเรือ ณ หอประชุมภูติอนันต์ โรงเรียนนายเรือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ


          โรงเรียนนายเรือ ได้ถือกำเนิดขึ้นมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ท่าน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบการปกครองบ้านเมืองใหม่ตามแบบตะวันตก สำหรับกิจการทหารเรือนั้น โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมทหารเรือขึ้น โดยระยะแรกที่ยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาวางรากฐานงานต่างๆ ก็ได้จ้างชาวต่างประเทศมา ดำรงตำแหน่งสำคัญที่คนไทยยังทำงานไม่ได้ เช่น ตำแหน่งผู้บังคับการเรือ ผู้บัญชาการ ป้อมต่าง ๆ และครูอาจารย์ทางด้านการศึกษาวิชาการทหารเรือนั้น กรมทหารเรือได้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับอบรมนายทหารชั้นประทวนขึ้นครั้งแรกที่บริเวณอู่หลวงใต้วัดระฆังตรงข้ามท่าราชวรดิฐ ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๓๔ ได้ตั้งโรงเรียนนายสิบขึ้น ใน พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒) หลังจากเกิดเหตุการณ์เรือรบฝรั่งเศสตีฝ่าล่วงล้ำปากน้ำเจ้าพระยา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริว่า “การที่ต้องจ้างชาวต่างประเทศเป็นผู้บังคับการเรือและป้อมนั้นไม่เป็นที่มั่นคงที่จะรักษาประเทศได้จะต้องมีการศึกษาและฝึกหัดให้คนไทยทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศได้”

          ในปีนี้เอง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ไปศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ พ.ศ.๒๔๔๐ ได้มีการตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารเรือขึ้น แต่เปิดเรียนได้ เพียง ๓ รุ่น จนถึงวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๑ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนนายเรือขึ้น โดยให้ใช้เรือพระที่นั่งมหาจักรี และ เรือหลวงมูรธาวสิตสวัสดิ์ เป็นสถานที่เรียน ส่วนเรือหลวงพาลีรั้งทวีป และเรือหลวงสุครีพครองเมือง ใช้เป็นที่พัก และฝึกนักเรียน มีนาวาโท ไซเดอร์ลิน ชาวเดนมาร์ก เป็นผู้บังคับการเรือหลวงมูรธาวสิตสวัสดิ์ และเป็นผู้บังคับการโรงเรียนด้วย 
          สำหรับนักเรียนนั้นได้คัดเลือกจากพลทหาร จ่า จำพวกนายท้ายเรือใหญ่ และนักเรียนจากโรงเรียนนายร้อยทหารเรือ เรียกชื่อว่า นักเรียนนายเรือ ในครั้งแรกมีนักเรียน ๑๒ นาย ในปีต่อมา นักเรียนมีจำนวนมากขึ้น ต้องให้นักเรียนขึ้นมาพักที่ศาลาการเปรียญวัดวงศมูล แต่ด้วยเหตุที่สถานที่เล่าเรียนคับแคบ ใน พ.ศ.๒๔๔๓ จึงย้ายโรงเรียนขึ้นมาอยู่ที่นันทอุทยานธนบุรี เมื่อจำนวนนักเรียนทวีมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี ให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนนายเรือแต่ในระหว่าง การก่อสร้างดัดแปลงพระราชวังเดิม โรงเรียนนายเรือได้ย้ายจากนันทอุทยานไปอยู่ที่พระตำหนักสุนันทาลัย ปากคลองตลาดเป็นการชั่วคราว จนถึง พ.ศ.๒๔๔๖ จึงย้ายมาที่พระราชวังเดิม วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๔๙ (ร.ศ.๑๒๕) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาทรงเปิดโรงเรียนนายเรือและได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชหัตถเลขาไว้ในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนนายเรือว่า “วันที่ ๒๐ พฤษจิกายน ร.ศ.๑๒๕ เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจซึ่งได้เหนการทหารเรือมีรากหยั่งลงแล้ว จะเปนที่มั่นสืบไปในภายน่า” การศึกษาในโรงเรียนนายเรือในช่วงเวลานั้นถือได้ว่า เป็นการศึกษาตามหลักสูตรใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงใน พ.ศ.๒๔๔๘ โดยมีนายพลเรือตรี พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รองผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานคณะกรรมการปรับปรุงหลักสูตร นอกจากนั้น เสด็จในกรมฯ (พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์) ยังได้ทรงอำนวยการศึกษาและเป็นพระอาจารย์ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๙ จนถึง พ.ศ.๒๔๕๔ ทำให้นักเรียนนายเรือที่สำเร็จการศึกษามีความรู้ความสามารถ ปฏิบัติงานแทนนายทหารต่างประเทศได้เป็นอย่างดี 
          นับแต่นั้นมาราชนาวีไทยก็ได้ดำเนินการโดยคนไทยตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตราบจนปัจจุบันนี้ และจากลายพระราชหัตถเลขาข้างต้น โรงเรียนนายเรือจึงกำหนดปรัชญาของโรงเรียนนายเรือว่า “แหล่งผลิตนายทหารเรือ อันเป็นรากแก้วของกองทัพเรือ” ประมาณกลางปี พ.ศ.๒๔๘๖ ซึ่งเป็นช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง จังหวัดพระนครได้ถูกโจมตีจากภัยทางอากาศอยู่บ่อยครั้ง จึงได้มีคำสั่งให้ย้ายโรงเรียนนายเรือจากพระราชวังเดิมไปอยู่ที่สัตหีบเป็นการชั่วคราว โดยมีการสร้างโรงเรียนนายเรือแห่งใหม่ขึ้นที่อ่าวเกล็ดแก้ว อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี แต่เมื่อนำนักเรียน กับนายทหารและครูอาจารย์ไปที่นั่นก็ประสบปัญหา เนื่องจากสภาพโดยรอบโรงเรียนยังเป็นป่า มีไข้มาเลเรียระบาด ครูอาจารย์เดินทางมาสอนลำบาก นักเรียนก็เป็นไข้มาเลเรียขึ้นสมองกันหลายคน จนไม่สามารถเรียนหนังสือได้
          ในที่สุด ปี พ.ศ.๒๔๙๕ โรงเรียนนายเรือจึงต้องย้ายจากเกล็ดแก้วมาอยู่ที่ป้อมเสือซ่อนเล็บ จังหวัดสมุทรปราการ โดยแลกสถานที่กับโรงเรียนชุมพลทหารเรือ และได้ผลิตนายทหารหลักของกองทัพเรือมาจนถึงทุกวันนี้
                                                                                                                 ข้อมูล สลก.ทร. ๒๑ พ.ย.๕๙

Comments

Popular posts from this blog

กง.ทร.พัฒนาระบบ E-mobile Slip ใช้ตรวจสอบข้อมูลใบจ่ายเงินเดือนผ่านสมาร์ทโฟน

เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ข้าราชการกองทัพเรือ กองทัพเรือ โดยกรมการเงินทหารเรือ ได้พัฒนาระบบ E-mobile Slip เพื่อให้ข้าราชการกองทัพเรือสามารถตรวจสอบข้อมูลใบจ่ายเงินเดือนได้ด้วยตนเองผ่านทางระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Smart Phone) ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้ เข้าลงทะเบียนผู้ใช้งานครั้งแรก เพื่อตั้งค่ารหัสผ่านในเว็บไซต์กรมการเงินทหารเรือที่ http://info.navy.mi.th/finance แบนเนอร์ “สลิปเงินเดือน” หลังเข้าลงทะเบียนผู้ใช้งานแล้ว โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ Android สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมผ่าน Play Store โดยค้นหาคำว่า “e-slip” และติดตั้งโปรแกรมในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ iOS ให้เปิด Browser และเข้าเว็บไซต์ http://www.finance.navy.mi.th/mobile_https หรือด้วยการสแกนผ่านบาร์โค้ดในเว็บไซต์กรมการเงินทหารเรือ จากนั้นจึงเข้าใช้งานด้วยรหัสผู้ใช้งานเป็นเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก และรหัสผ่านที่ตั้งไว้ ข้อมูล กง.ทร. ๒๘ ก.ย.๕๙

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุสมเด็จพระปิ่นเกล้า งานสวัสดิการ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ

โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ได้เปิดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุสมเด็จพระปิ่นเกล้า “พฤฒเวชโฮมแคร์” ให้บริการดูแลผู้สูงอายุ โดยทีมงานคุณภาพมาตรฐาน เพื่อความสุขสบายของคนที่คุณรัก ภายในบรรยากาศที่อบอุ่นเสมือนบ้าน รับผู้สูงอายุชาย – หญิง อายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป            นอกจากนั้นยังจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ ตามสภาพร่างกาย และความเหมาะสมของผู้เข้ารับการบริการ เช่น การทำบุญตักบาตร การสวดมนต์ การสนทนา โดยใช้หลักจิตวิทยาเพื่อเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมอง การออกกำลังกาย กิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีบริการแพทย์ตรวจเยี่ยม ๒ ครั้งต่อเดือน แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูตรวจเยี่ยม ๑ ครั้งต่อเดือน พยาบาลวิชาชีพเยี่ยมประเมิน ๔ ครั้งต่อเดือน ผู้ที่สนใจติดต่อได้ที่ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุสมเด็จพระปิ่นเกล้า งานสวัสดิการ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน แขวงบุคคโลเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์หมายเลข ๐๖ ๑๖๑๕ ๒๖๕๒ และ ๐๘ ๖๓๘๒ ๗๖๙๙                                                                         ข้อมูล รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ

กิจการการฌาปนกิจสงเคราะห์แห่งราชนาวีให้บริการจัดการศพแบบครบวงจร

ฌาปนสถานกองทัพเรือ วัดเครือวัลย์วรวิหาร ให้บริการจัดการศพแบบครบวงจร โดยให้คำแนะนำในการแจ้งเสียชีวิตและจัดการศพ, ติดต่อประสานงานกับการฌาปนกิจสงเคราะห์แห่งราชนาวี, จัดหาหีบศพพร้อมรถบริการรับ-ส่งศพ, จัดหาดอกไม้ประดับหน้าศพและพวงหรีด, จัดหาเครื่องไทยธรรมพร้อมดอกไม้ถวายพระ, จัดหาอาหารและเครื่องดื่ม, จัดหาดอกไม้จันทน์พร้อมช่อเชิญประธาน และติดต่อแนะนำสถานที่ในการลอยอังคาร สอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๖๕ ๑๐๑๓, ๐ ๒๔๗๕ ๕๑๖๒, ๐ ๒๔๗๕ ๓๒๑๙ ข้อมูล กิจการการฌาปนกิจสงเคราะห์แห่งราชนาวี ๑๔ พ.ค.๕๘