Skip to main content

ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ จัดเรือผลักดันน้ำพร้อมกำลังพลเข้าช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดเพชรบุรี

          เมื่อวันที่ ๕ พ.ย.๕๙ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ จัดเรือผลักดันน้ำจำนวน ๒๐ ลำ และกำลังพล๑๐๐ นาย เข้าช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดเพชรบุรี พื้นที่อำเภอเมือง และ อำเภอท่ายาง
          โดยมี พล.ร.ต.วิพันธ์ ชมะโชติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายแผน อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ เป็นประธานในการปล่อยขบวนช่วยเหลือ เฉพาะกิจผลักดันน้ำ ณ อู่ป้อมพระจุลจอมเกล้า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อเวลา ๐๙๐๐ ได้ทำการปล่อยขบวนรถบรรทุกชานต่ำ ๔ คัน และรถบรรทุกใหญ่ ๖ คัน ขนเรือผลักดันน้ำจำนวน ๒๐ ลำ พร้อมอุปกรณ์ และกำลังพลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอุทกภัยจากอู่ป้อม พระจุลจอมเกล้า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ เดินทางเข้าพื้นในอำเภอเมือง และอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี โดยจะนำเรือผลักดันน้ำไปช่วยผลักดันน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีลงสู่ทะเลจนกว่าสถานการณ์น้ำท่วม จะคลี่คลาย
โดยจะดำเนินการทยอยติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำตามจุดที่กำหนดไว้ ๓ จุด คือ
               ๑. สะพานรถไฟหลังจวนผู้ว่าเพชรบุรี จำนวน ๑๐ เครื่อง
               ๒. สะพานวัดกุฏิ จำนวน ๑๐ เครื่อง
               ๓. วัดต้นสน ปากน้ำบ้านแหลม จำนวน ๒๐ เครื่อง

ขีดความสามารถของเครื่องผลักดันน้ำที่สร้างโดยกรมอู่ทหารเรือสามารถผลักดันน้ำและสูบน้ำได้ดังนี้
               ๑. สามารถผลักดันน้ำต่อเครื่องได้ ๒๔.๒ ลูกบาศก์เมตร/นาที จะสามารถดึงน้ำรอบ ๆ ตัวไปได้อีก ๑:๓ หรือประมาณ ๗๒.๗ ลูกบาศก์เมตร/นาที หรือ ๑๐๔,๖๖๐ ลูกบาศก์เมตร/วัน
               ๒. สามารถนำมาสูบน้ำได้ ๒๔.๒ ลูกบาศก์เมตร/นาที

          สำหรับความเป็นมาของเรือผลักดันน้ำ สืบเนื่องมาจาก ในเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ.๒๕๓๘ กรุงเทพมหานคร ประสบปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทราบปัญหาและความเสียหายที่เกิดขึ้น ด้วยพระเมตตาที่ทรงห่วงใยต่อพสกนิกรที่ต้องประสบกับภาวะน้ำท่วมเป็นประจำ จึงทรงมีพระราชดำริว่า “ทหารเรือมีรถสายพานลำเลียงพลสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) และเรือลาดตระเวนลำน้ำ (PBR) ที่มีระบบขับเคลื่อนแบบ วอเตอร์เจ็ต จะช่วยเร่งน้ำให้ไหลเร็วขึ้นจะทำให้น้ำไหลไปสถานีสูบน้ำที่ปลายคลองต่าง ๆ ได้ปริมาณมากขึ้น” 
          ผู้บัญชาการทหารเรือในสมัยนั้น จึงสนองพระราชดำริ โดยสั่งการให้หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน นำรถสะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน ๒ คัน ไปช่วยเหลือผลักดันน้ำ ในวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๘ และปฏิบัติภารกิจผลักดันน้ำตลอด ๒๔ ชั่วโมง 
          ผลจากการผลักดันน้ำของกองทัพเรือในครั้งนั้น ได้ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ต่อเนื่องถึงปี พ.ศ.๒๕๔๑ ตามพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ ผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา ให้กรมอู่ทหารเรือซึ่งเป็นหน่วยหลักในการซ่อมสร้างเรือของกองทัพเรือ ดำเนินการออกแบบและสร้างเรือผลักดันน้ำชุดแรกขึ้นทั้งหมด ๙ ลำ เมื่อแล้วเสร็จกองทัพเรือได้นำขึ้นทูลเกล้าถวาย ผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งปัจจุบันเรือชุดดังกล่าวกรมชลประทานเป็นผู้รับผิดชอบดูแลใช้งาน
          ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๘ ต.ค.๕๔ รัฐบาลได้มีหนังสือถึงกรมอู่ทหารเรือ แต่งตั้งให้ น.อ.ดร. สมัย ใจอินทร์ โฆษกกรมอู่ทหารเรือ (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น ปัจจุบัน ได้รับพระราชทานยศพลเรือตรี) เข้าเป็น “คณะทำงานบริหารจัดการระบายน้ำในพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรง” โดย พลเรือตรี สมัย ได้เคยเปิดเผยว่า "เรื่องเรือผลักดันน้ำนั้น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำหลากมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๘ 
          ซึ่งแนวความคิดนี้ ปัจจุบันกรมชลประทานได้นำไปดัดแปลงระบบ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาระบบน้ำทั่วประเทศ และวันนี้ก็ได้นำโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร" และจากองค์ความรู้ ในการสร้างเรือผลักดันน้ำ ที่คงมีอยู่ทำให้ กองทัพเรือ โดย อู่ทหารเรือธนบุรี อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า และ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช ระดมสรรพกำลังสร้างเรือผลักดันน้ำขึ้นใหม่เพื่อให้ทันต่อการนำไปใช้ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ในปี พ.ศ.๒๕๕๔ ทั้งยังสนองต่อพระราชดำริแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการนำอุปกรณ์ เครื่องยนต์ที่มีอยู่เดิมมาผลิตและพัฒนาขึ้นใหม่เป็น ๓ ขนาด คือ
               ๑. ขนาด ๓๒๙ แรงม้า ผลักดันน้ำได้ ๑๕๐,๐๐๐ ลบ.ม./วัน
               ๒. ขนาด ๒๒๐ แรงม้า ผลักดันน้ำได้ ๑๐๐,๐๐๐ ลบ.ม./วัน
               ๓. ขนาด ๑๒๐ แรงม้า ผลักดันน้ำได้ ๓๐,๐๐๐ ลบ.ม./วัน 


          เรือผลักดันน้ำนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการระบายน้ำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ครั้งละปริมาณมาก อีกทั้งยังสามารถชะล้างไล่ดินเลนที่ตกตะกอนอยู่ก้นแอ่งให้หมดไป ทำให้น้ำไหลได้สะดวก มากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เป็นแอ่ง เป็นบึง และคอขวด เนื่องจากเป็นที่ลุ่มระบายน้ำออกได้ลำบากและไหลได้ไม่เร็ว
                                                                                                     ข้อมูล ปชส.ศบภ.ทร. ๗ พ.ย.๕๙

Comments

Popular posts from this blog

กง.ทร.พัฒนาระบบ E-mobile Slip ใช้ตรวจสอบข้อมูลใบจ่ายเงินเดือนผ่านสมาร์ทโฟน

เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ข้าราชการกองทัพเรือ กองทัพเรือ โดยกรมการเงินทหารเรือ ได้พัฒนาระบบ E-mobile Slip เพื่อให้ข้าราชการกองทัพเรือสามารถตรวจสอบข้อมูลใบจ่ายเงินเดือนได้ด้วยตนเองผ่านทางระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Smart Phone) ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้ เข้าลงทะเบียนผู้ใช้งานครั้งแรก เพื่อตั้งค่ารหัสผ่านในเว็บไซต์กรมการเงินทหารเรือที่ http://info.navy.mi.th/finance แบนเนอร์ “สลิปเงินเดือน” หลังเข้าลงทะเบียนผู้ใช้งานแล้ว โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ Android สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมผ่าน Play Store โดยค้นหาคำว่า “e-slip” และติดตั้งโปรแกรมในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ iOS ให้เปิด Browser และเข้าเว็บไซต์ http://www.finance.navy.mi.th/mobile_https หรือด้วยการสแกนผ่านบาร์โค้ดในเว็บไซต์กรมการเงินทหารเรือ จากนั้นจึงเข้าใช้งานด้วยรหัสผู้ใช้งานเป็นเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก และรหัสผ่านที่ตั้งไว้ ข้อมูล กง.ทร. ๒๘ ก.ย.๕๙

ศูนย์แบบเบ็ดเสร็จข้าราชการกองทัพเรือนอกประจำการ (One Stop Service : OSS)

  ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จข้าราชการกองทัพเรือนอกประจำการ ได้เปิดที่ทำการอาคารศูนย์แบบเบ็ดเสร็จข้าราชการกองทัพเรือนอกประจำการ ( One Stop Service : OSS) หรืออาคารสภาเรือแห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพื้นที่วังนันทอุทยาน ถนนอิสรภาพ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โดยเป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จข้าราชการกองทัพเรือนอกประจำการเพื่อช่วยเหลือ แนะนำ และอำนวยความสะดวกแก่ข้าราชการกองทัพเรือที่ลาออกจากราชการและเกษียณอายุราชการ รวมทั้งทายาท ให้สามารถเข้าถึงการบริการด้านสิทธิกำลังพลได้อย่างสะดวกและรวดเร็วโดยการรวมจุดบริการมาไว้เพียงจุดเดียว อาทิ การเบิกเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาคุณภาพการสวัสดิการและการบริการให้กับกำลังพลและครอบครัว เพื่อให้มีขวัญกำลังใจและคุณภาพชีวิตที่ดี   โดยได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารสภาเรือ เมื่อวันที่ 4 ส.ค.60 ที่ผ่านมา   และเรียนเชิญผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้แทน เป็นประธานในพิธีเปิดอาคาร ศูนย์แบบเบ็ดเสร็จข้าราชการกองทัพเรือนอกประจำการ ในวันที่ 8 พ.ค.61 สำหรับอาคารสภาเรือ ที่สร้างขึ้นนี้   มีรูปแบบการดำเนินการ ใน 3 ส่วนคือ 1. ด้านกำลังพล ได้แก่ ก

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุสมเด็จพระปิ่นเกล้า งานสวัสดิการ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ

โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ได้เปิดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุสมเด็จพระปิ่นเกล้า “พฤฒเวชโฮมแคร์” ให้บริการดูแลผู้สูงอายุ โดยทีมงานคุณภาพมาตรฐาน เพื่อความสุขสบายของคนที่คุณรัก ภายในบรรยากาศที่อบอุ่นเสมือนบ้าน รับผู้สูงอายุชาย – หญิง อายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป            นอกจากนั้นยังจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ ตามสภาพร่างกาย และความเหมาะสมของผู้เข้ารับการบริการ เช่น การทำบุญตักบาตร การสวดมนต์ การสนทนา โดยใช้หลักจิตวิทยาเพื่อเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมอง การออกกำลังกาย กิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีบริการแพทย์ตรวจเยี่ยม ๒ ครั้งต่อเดือน แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูตรวจเยี่ยม ๑ ครั้งต่อเดือน พยาบาลวิชาชีพเยี่ยมประเมิน ๔ ครั้งต่อเดือน ผู้ที่สนใจติดต่อได้ที่ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุสมเด็จพระปิ่นเกล้า งานสวัสดิการ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน แขวงบุคคโลเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์หมายเลข ๐๖ ๑๖๑๕ ๒๖๕๒ และ ๐๘ ๖๓๘๒ ๗๖๙๙                                                                         ข้อมูล รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ