ในวันที่ (๒๗ มี.ค.๕๙) ระหว่างเวลา ๐๖๓๐ – ๑๒๐๐ น. ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย
(ศปมผ.) โดยคณะทำงานแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานในเรือประมง จัดการฝึกภาคปฏิบัติในทะเลของหลักสูตรป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับในทะเล ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์การระหว่างประเทศ มากกว่า 20 หน่วยงาน เพื่อใช้สำหรับแก้ไขปัญหาการคุ้มครองแรงงาน และการค้ามนุษย์ในภาคประมงของไทย หลักสูตรนี้ ถูกบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคประมงของไทยและได้รับการรับรองเป็นหลักสูตรชาติทางทะเล โดยคณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งมี พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ ๒๕ พ.ย.๕๘ พร้อมกับได้รับการอนุมัติจากศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายให้มีการจัดการฝึกอบรมจำนวน ๓ รุ่นๆ ละ ๔๐ คน รวมมีเป้าหมายในการผลิตบุคลากรทางทะเลจำนวน ๑๒๐ คน ณ โรงแรมดีวารี จอมเทียน บีช พัทยา จังหวัดชลบุรี
การจัดการฝึกอบรมในครั้งนี้ซึ่งเป็นครั้งที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๘ มี.ค.๕๙ ณ โรงแรมดีวารี จอมเทียนบีช พัทยา โดยมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นเจ้าภาพร่วม โดยมีนาวาเอก ดรณ์ ทิพนันท์ เลขานุการคณะทำงานแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานในเรือประมง เป็นผู้อำนวยฝึก ซึ่งมีพื้นที่การฝึกบริเวณอ่าวสัตหีบ โดยกองทัพเรือได้สนับสนุนเรือฝึกจำนวน ๒ ลำ ประกอบด้วย เรือ ต.๙๖ และเรือ ต.๘๒ มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจำนวน ๔๐ คน จากหน่วยที่ทำหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายในทะเล และหน่วยที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดี อันประกอบด้วย กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมศุลกากร กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และสำนักงานคดีค้ามนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุด
วัตถุประสงค์ของการฝึกภาคปฏิบัติในทะเล เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมนำความรู้ที่ได้จากการเรียนในห้องเรียนทั้งในเรื่องหลักกฎหมายและเทคนิคการตรวจ การรวบรวมพยานหลักฐาน และการสัมภาษณ์มาประยุกต์ใช้ในสภาวะที่เสมือนการทำงานจริง สำหรับตรวจและบังคับใช้กฎหมายในทะเล ทั้งสภาพการทำงานที่มีความยากลำบากจากสภาพคลื่นลม และความยากในการตรวจสอบและสืบหาข้อเท็จจริงจากตัวแรงงาน และผู้ควบคุมเรือ ทั้งนี้ เพื่อทำให้ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้และความมั่นใจที่จะทำงานตามนโยบายของศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือในการแก้ปัญหาการคุ้มครองและแรงงานและการค้ามนุษย์ในภาคประมงให้หมดสิ้นไป และมีความยั่งยืนในอนาคต
--ข้อมูล สน.ปชส.ศปมผ.
๒๘ มี.ค.๕๙
เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ข้าราชการกองทัพเรือ กองทัพเรือ โดยกรมการเงินทหารเรือ ได้พัฒนาระบบ E-mobile Slip เพื่อให้ข้าราชการกองทัพเรือสามารถตรวจสอบข้อมูลใบจ่ายเงินเดือนได้ด้วยตนเองผ่านทางระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Smart Phone) ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้ เข้าลงทะเบียนผู้ใช้งานครั้งแรก เพื่อตั้งค่ารหัสผ่านในเว็บไซต์กรมการเงินทหารเรือที่ http://info.navy.mi.th/finance แบนเนอร์ “สลิปเงินเดือน” หลังเข้าลงทะเบียนผู้ใช้งานแล้ว โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ Android สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมผ่าน Play Store โดยค้นหาคำว่า “e-slip” และติดตั้งโปรแกรมในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ iOS ให้เปิด Browser และเข้าเว็บไซต์ http://www.finance.navy.mi.th/mobile_https หรือด้วยการสแกนผ่านบาร์โค้ดในเว็บไซต์กรมการเงินทหารเรือ จากนั้นจึงเข้าใช้งานด้วยรหัสผู้ใช้งานเป็นเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก และรหัสผ่านที่ตั้งไว้ ข้อมูล กง.ทร. ๒๘ ก.ย.๕๙
Comments