การขับรถในช่วงกลางคืนมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าช่วงกลางวันเป็น ๓ เท่า เนื่องจากความมืดทำให้ผู้ขับขี่มีขอบเขตในการมองเห็นเส้นทางค่อนข้างจำกัดและไม่ชัดเจน ประกอบกับความง่วงและความอ่อนล้าของผู้ขับขี่ ส่งผลให้ปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินช้ากว่าปกติ รวมถึงยังมีโอกาสประสบกับผู้ร่วมใช้เส้นทางที่มีพฤติกรรมเมาแล้วขับ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ( ปภ. ) ขอแนะวิธีปฏิบัติ ดังนี้
ก่อนเดินทาง ให้เตรียมพร้อมร่างกาย โดยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดิ่ม แอลกอฮอล์ ไม่ทานยาที่มีฤทธิ์กดหรือกล่อมประสาท หากขับรถทางไกล ควรมีเพื่อนร่วมทางเพื่อผลัดเปลี่ยนกันขับรถ หรือจอดรถให้บ่อยขึ้นเพื่อป้องกันการหลับใน เตรียมสภาพรถให้พร้อม โดยตรวจสัญญาณไฟหน้ารถ ไฟเลี้ยว ไฟเบรกให้ส่องสว่างทุกดวง ปรับไฟหน้ารถให้แสงไฟอยู่ในระดับที่มองเห็นเส้นทางได้ชัดเจน พร้อมจัดเตรียมอุปกรณ์ประจำรถสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน และศึกษาสภาพเส้นทาง เพื่อวางแผนการเดินทาง และหลีกเลี่ยงเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย
ขณะเดินทาง การขับรถ ควรขับรถในช่องทางด้านซ้ายเพื่อป้องกันสายตาได้รับผลกระทบจากแสงไฟของรถที่สวนทางมา ขับรถโดยใช้ความเร็วที่เหมาะสม เว้นระยะห่างจากคันหน้าให้มากขึ้น กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันท่วงที เมื่อเปลี่ยนช่องทางควรให้สัญญาณไฟล่วงหน้า ในระยะไม่ต่ำกว่า ๖๐ เมตร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ เพิ่มความระมัดระวังเมื่อขับรถผ่านเส้นทางเสี่ยง เช่น ทางโค้ง ทางแยก ทางขึ้น – ลงสะพาน ทางลาดชัน จุดกลับรถ เป็นต้น ในช่วงกลางคืนผู้ขับขี่มักมีอาการง่วงหลับใน ควรสังเกตลักษณะการขับขี่ของรถคันอื่น หากมีการขับส่ายไปส่ายมาให้ออกห่าง การให้สัญญาณไฟ ให้เปิดใช้สัญญาณไฟให้เหมาะสมกับสภาพเส้นทาง และในกรณีรถเสีย หรือประสบอุบัติเหตุให้จอดรถริมข้างทางในบริเวณที่ปลอดภัย โดยจอดให้ชิดขอบทางให้มากที่สุด เปิดสัญาณไฟฉุกเฉิน พร้อมนำวัสดุสะท้อนแสงมาวางไว้ด้านหลังรถในระยะไม่ต่ำกว่า ๕๐ เมตร เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน
หากผู้ขับขี่รถยนต์ทุกคนคำนึงถึงความปลอดภัย จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุลงได้ ดังนั้นจึงขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน ระมัดระวังในการเดินทางโดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน
ข้อมูล ปภ.
๑๐ มิ.ย. ๕๖
Comments