Skip to main content
การรับมือจากแผ่นดินไหว ประเทศไทยอยู่ในพื้นที่แนวตะเข็บของเปลือกโลกที่เกิดแผ่นดินไหวซึ่งมีโอกาสที่จะขยับตัวได้ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวเมื่อไร กรมทรัพยากรธรณีสำรวจแผนที่บริเวณเสี่ยงภัยแผ่นดินไหว พบว่ามี ๔ จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยมากที่สุด คือ จังหวัดกาญจนบุรี ,จังหวัดตาก , จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดเชียงราย ส่วนจังหวัดรองลงมาส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและภาคใต้ ส่วนที่ปลอดภัยมากที่สุด คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ประเทศไทยจะไม่ประสบภัยพิบัติจากเหตุแผ่นดินไหวบ่อยเท่าประเทศที่ตั้งอยู่บนเขตวงแหวนไฟหรือเขตรอยต่อของเปลือกโลก เช่น ประเทศชิลี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย แต่ก็ควรมีการเตรียมตัวรับมือยามเกิดเหตุแผ่นดินไหว ช่วงก่อนเกิดแผ่นดินไหว ๑. ควรมีไฟฉายพร้อมถ่านไฟฉาย และกระเป๋ายาเตรียมไว้ในบ้านให้พร้อม ๒. ศึกษาการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ๓. ควรมีเครื่องมือดับเพลิงไว้ในบ้าน เช่น เครื่องดับเพลิง ถุงทราย เป็นต้น ๔. ควรทราบตำแหน่งวาล์วปิดน้ำ วาล์วปิดก๊าซ สะพานไฟฟ้าสำหรับตัดกระแสไฟฟ้า ๕. อย่าวางสิ่งของหนักบนชั้นหรือหิ้งสูงๆ ๖. ผูกเครื่องใช้หนักๆ ให้แน่นกับพื้นผนังบ้าน ๗. ควรมีการวางแผนเรื่องจุดนัดหมายในกรณีที่มีการพลัดพรากจากกันเพื่อมารวมกันอีกครั้งในภายหลัง ๘. สร้างอาคารบ้านเรือนให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว ๑. ควบคุมสติ ถ้าอยู่ในบ้านก็ให้อยู่ในบ้าน ถ้าอยู่นอกบ้านก็ให้อยู่นอกบ้าน เพราะส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บเพราะวิ่งเข้าออกจากบ้าน ๒. ถ้าอยู่ในบ้านให้ยืนหรือหมอบอยู่ในส่วนของบ้านที่มีโครงสร้างแข็งแรงที่สามารถรับน้ำหนักได้มาก และให้อยู่ห่างจากประตู ระเบียง และหน้าต่าง ๓. หากอยู่ในอาคารสูง ให้รีบออกจากตัวอาคารให้เร็ว ๔. ถ้าอยู่ในที่โล่งแจ้ง ให้อยู่ห่างจากเสาไฟฟ้า และสิ่งห้อยแขวนต่างๆ ๕. อย่าใช้เทียน ไม้ขีดไฟ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดประกายไฟเพราะอาจมีก๊าซรั่วซึมอยู่บริเวณนั้น ๖. ถ้ากำลังขับรถให้หยุดรถและอยู่ภายในรถจนกระทั่งการสั่นสะเทือนหยุด ๗. ห้ามใช้ลิฟท์โดยเด็ดขาด ๘. หากอยู่ชายหาดให้อยู่ห่างจากชายฝั่ง เพราะอาจเกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าหาฝั่ง หลังเกิดแผ่นดินไหว ๑. ควรตรวจตัวเองและคนข้างเคียงว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ให้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นไปก่อน ๒. รีบออกจากอาคารที่เสียหายทันที ๓. ใส่รองเท้าหุ้มส้นเสมอ เพราะอาจมีวัสดุแหลมคมที่พื้น ๔. ตรวจสายไฟ ท่อน้ำ ท่อก๊าซ ถ้าก๊าซรั่วให้ปิดวาล์วถังก๊าซยกสะพานไฟ อย่าจุดไม้ขีดไฟหรือก่อไฟจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีก๊าซรั่ว ๕. ตรวจสอบว่าก๊าซรั่วหรือไม่ ด้วยการดมกลิ่น ๖. ให้ออกจากบริเวณที่สายไฟขาด และวัสดุสายไฟพาดถึง ๗. เปิดวิทยุฟังคำแนะนำฉุกเฉิน ๘. สำรวจดูความเสียหายของท่อส้วม และท่อน้ำทิ้งก่อนใช้ ๙. อย่าเป็นไทยมุงหรือเข้าไปในเขตที่มีความเสียหายสูง ๑๐. อย่าแพร่ข่าวลือ แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่คาดการณ์ไม่ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้มีการเตรียมตัวรับมือ หากมีการเตรียมความพร้อมและรู้จักวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ก็จะสามารถบรรเทาความเสียหายลงได้ ข้อมูล กรมทรัพยากรธรณี ๑๒ พ.ค.๕๗

Comments

Popular posts from this blog

กง.ทร.พัฒนาระบบ E-mobile Slip ใช้ตรวจสอบข้อมูลใบจ่ายเงินเดือนผ่านสมาร์ทโฟน

เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ข้าราชการกองทัพเรือ กองทัพเรือ โดยกรมการเงินทหารเรือ ได้พัฒนาระบบ E-mobile Slip เพื่อให้ข้าราชการกองทัพเรือสามารถตรวจสอบข้อมูลใบจ่ายเงินเดือนได้ด้วยตนเองผ่านทางระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Smart Phone) ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้ เข้าลงทะเบียนผู้ใช้งานครั้งแรก เพื่อตั้งค่ารหัสผ่านในเว็บไซต์กรมการเงินทหารเรือที่ http://info.navy.mi.th/finance แบนเนอร์ “สลิปเงินเดือน” หลังเข้าลงทะเบียนผู้ใช้งานแล้ว โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ Android สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมผ่าน Play Store โดยค้นหาคำว่า “e-slip” และติดตั้งโปรแกรมในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ iOS ให้เปิด Browser และเข้าเว็บไซต์ http://www.finance.navy.mi.th/mobile_https หรือด้วยการสแกนผ่านบาร์โค้ดในเว็บไซต์กรมการเงินทหารเรือ จากนั้นจึงเข้าใช้งานด้วยรหัสผู้ใช้งานเป็นเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก และรหัสผ่านที่ตั้งไว้ ข้อมูล กง.ทร. ๒๘ ก.ย.๕๙

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุสมเด็จพระปิ่นเกล้า งานสวัสดิการ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ

โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ได้เปิดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุสมเด็จพระปิ่นเกล้า “พฤฒเวชโฮมแคร์” ให้บริการดูแลผู้สูงอายุ โดยทีมงานคุณภาพมาตรฐาน เพื่อความสุขสบายของคนที่คุณรัก ภายในบรรยากาศที่อบอุ่นเสมือนบ้าน รับผู้สูงอายุชาย – หญิง อายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป            นอกจากนั้นยังจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ ตามสภาพร่างกาย และความเหมาะสมของผู้เข้ารับการบริการ เช่น การทำบุญตักบาตร การสวดมนต์ การสนทนา โดยใช้หลักจิตวิทยาเพื่อเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมอง การออกกำลังกาย กิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีบริการแพทย์ตรวจเยี่ยม ๒ ครั้งต่อเดือน แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูตรวจเยี่ยม ๑ ครั้งต่อเดือน พยาบาลวิชาชีพเยี่ยมประเมิน ๔ ครั้งต่อเดือน ผู้ที่สนใจติดต่อได้ที่ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุสมเด็จพระปิ่นเกล้า งานสวัสดิการ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน แขวงบุคคโลเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์หมายเลข ๐๖ ๑๖๑๕ ๒๖๕๒ และ ๐๘ ๖๓๘๒ ๗๖๙๙                                                                         ข้อมูล รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ

กิจการการฌาปนกิจสงเคราะห์แห่งราชนาวีให้บริการจัดการศพแบบครบวงจร

ฌาปนสถานกองทัพเรือ วัดเครือวัลย์วรวิหาร ให้บริการจัดการศพแบบครบวงจร โดยให้คำแนะนำในการแจ้งเสียชีวิตและจัดการศพ, ติดต่อประสานงานกับการฌาปนกิจสงเคราะห์แห่งราชนาวี, จัดหาหีบศพพร้อมรถบริการรับ-ส่งศพ, จัดหาดอกไม้ประดับหน้าศพและพวงหรีด, จัดหาเครื่องไทยธรรมพร้อมดอกไม้ถวายพระ, จัดหาอาหารและเครื่องดื่ม, จัดหาดอกไม้จันทน์พร้อมช่อเชิญประธาน และติดต่อแนะนำสถานที่ในการลอยอังคาร สอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๖๕ ๑๐๑๓, ๐ ๒๔๗๕ ๕๑๖๒, ๐ ๒๔๗๕ ๓๒๑๙ ข้อมูล กิจการการฌาปนกิจสงเคราะห์แห่งราชนาวี ๑๔ พ.ค.๕๘