กองทัพเรือร่วมกับจังหวัดสมุทรปราการ มูลนิธิพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ ๕ ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า และชมรมคนรักษ์ป้อมพระจุลจอมเกล้า จัดงานรำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และรำลึกถึงวีรชนในวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ ในวันที่ ๑๓ ก.ค.๕๙ ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยมี พลเรือเอก ไกรวุธ วัฒนธรรม ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๕ พิธีสดุดีวีรชน และพิธีสงฆ์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นยุคที่ประเทศมหาอำนาจล่าอาณานิคม โดยมีเป้าหมายที่ประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ด้วยพระวิจารณญาณและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้สร้างป้อมปราการที่ทันสมัยขึ้น บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบกับงบประมาณรายได้ของแผ่นดิน ทรงทดลองยิงปืนที่ป้อมและได้พระราชทานชื่อป้อมแห่งนี้ว่าป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งภายหลังการสร้างป้อมพระจุลจอมเกล้าเสร็จลง ป้อมนี้ก็ได้มีส่วนสำคัญในการต่อสู้ในเหตุการณ์วิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ วันแห่งประวัติศาสตร์ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒) หมู่เรือรบฝรั่งเศสได้ส่งเรือปืน ชั้น ๑ คือ แองกองสตังค์และเรือปืนโคเมตล่วงล้ำผ่านปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามา แม้ปืนจากป้อมพระจุลจอมเกล้าได้ยิงปืนเตือน แต่เรือฝรั่งเศสยังแล่นรุกล้ำเข้ามา ขณะที่เรือรบฝ่ายไทย ประกอบด้วย เรือมกุฎราชกุมาร เรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ เรือหาญหักศัตรู เรือนฤเบนทร์บุตรี เรือทูลกระหม่อม ซึ่งเรือที่ทันสมัยมีเพียงเรือมกุฎราชกุมาร และเรือมูรธาวสิตสวัสดิ์ นอกจากนั้นเป็นเรือล้าสมัย หรือเรือกลไฟประจำในแม่น้ำ ซึ่งแม้เรือรบฝ่ายไทยจะทำการต่อสู้อย่างเต็มกำลังความสามารถ แต่ด้วยศักยภาพของเรือฝรั่งเศสที่เหนือกว่า ทำให้เรือรบของฝรั่งเศสแล่นผ่านเข้ามาจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส
การรบครั้งนี้ทหารฝ่ายไทยเสียชีวิต ๘ นาย บาดเจ็บ ๔๐ นาย ทหารฝรั่งเศสเสียชีวิต ๓ นาย บาดเจ็บ ๓ นาย และไทยต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (ดินแดนลาวเกือบทั้งหมด) รวมทั้งแคว้นสิบสองจุไทยให้เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ โดยส่งพระราชโอรสหลายพระองค์ไปศึกษาในยุโรป ทรงเห็นความสำคัญของการให้คนไทยทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศในตำแหน่งสำคัญทางทหาร ทรงจัดการการศึกษาแก่ทหารเรือไทยจนเกิดมีโรงเรียนนายเรือขึ้น ทรงเจริญพระราชไมตรีกับนานาประเทศ ทรงส่งราชทูตไปประจำประเทศต่างๆ และได้เสด็จประพาส
ประเทศต่างๆ ในยุโรปเพื่อเจริญสัมพันธ์ไมตรี นับเป็นพระปรีชาสามารถในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สำคัญทำให้ไม่มีชาติใดมารุกรานไทยเช่นนี้อีก
ข้อมูล กพร.ทร.
๕ ก.ค.๕๙
เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ข้าราชการกองทัพเรือ กองทัพเรือ โดยกรมการเงินทหารเรือ ได้พัฒนาระบบ E-mobile Slip เพื่อให้ข้าราชการกองทัพเรือสามารถตรวจสอบข้อมูลใบจ่ายเงินเดือนได้ด้วยตนเองผ่านทางระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Smart Phone) ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้ เข้าลงทะเบียนผู้ใช้งานครั้งแรก เพื่อตั้งค่ารหัสผ่านในเว็บไซต์กรมการเงินทหารเรือที่ http://info.navy.mi.th/finance แบนเนอร์ “สลิปเงินเดือน” หลังเข้าลงทะเบียนผู้ใช้งานแล้ว โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ Android สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมผ่าน Play Store โดยค้นหาคำว่า “e-slip” และติดตั้งโปรแกรมในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ iOS ให้เปิด Browser และเข้าเว็บไซต์ http://www.finance.navy.mi.th/mobile_https หรือด้วยการสแกนผ่านบาร์โค้ดในเว็บไซต์กรมการเงินทหารเรือ จากนั้นจึงเข้าใช้งานด้วยรหัสผู้ใช้งานเป็นเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก และรหัสผ่านที่ตั้งไว้ ข้อมูล กง.ทร. ๒๘ ก.ย.๕๙
Comments