Skip to main content


กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ



ในวันเสาร์ที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๖ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สิ้นพระชนม์ ณ ตำบลหาดทรายรี จังหวัดชุมพร สิริพระชนมายุ ๔๔ พรรษา

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (ต้นราชสกุลอาภากร) เป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ นับลำดับราชสกุลวงศ์เป็นองค์ที่ ๒๘ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์” ประสูติ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๒๓ และเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) พระองค์มีพระกนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดา ๒ พระองค์ คือ พระองค์เจ้าหญิง อรองค์ อรรคยุพา และพระองค์เจ้าสุริยงประยูรพันธุ์

เมื่อยังทรงพระเยาว์พระองค์ทรงได้รับการศึกษาขั้นแรกที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒) หลังจากเกิดวิกฤตการณ์เรือรบฝรั่งเศสเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ เสด็จไปศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ พร้อมกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว) ในขั้นแรก พระองค์ได้ประทับร่วมกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ไบรตันและแอสคอต เพื่อทรงศึกษาภาษาและวิชาเบื้องต้น ต่อมาได้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาขั้นต้นสำหรับเตรียมเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายเรืออังกฤษ และเมื่อทรงสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.๒๔๔๓ พระองค์ได้ทรงเข้ารับราชการในกรมทหารเรือ โดยได้รับพระราชทานยศเป็น นายเรือโท (เทียบเท่านาวาตรีในปัจจุบัน) พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ นับเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์แรกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้เสด็จไปทรงศึกษาเกี่ยวกับวิชาการทหารเรือยังต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า กิจการทหารเรือไทยเท่าที่ได้เป็นอยู่ขณะนั้น ต้องอาศัยชาวต่างประเทศเป็นผู้บัญชาการทางเรือ และป้อมอยู่เป็นอันมาก จึงไม่สู้จะมีความมั่นคงเท่าใดนัก ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ เป็นตัวอย่างอันดี ฉะนั้นจึงนับว่าเป็นพระราชดำริที่เหมาะสมในการส่งพระราชโอรสไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือในครั้งนี้

และพระองค์ก็ทำให้กองทัพเรือไทยมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศสมดังพระราชดำริของพระชนกนาถ พระกรุณาธิคุณที่พระองค์ที่มีต่อกองทัพเรือ ประกอบด้วย

- ทรงริเริ่มกำหนดแบบสัญญาณธงสองมือและโคมไฟ ตลอดจนเริ่มฝึกพลอาณัติสัญญาณ (ทัศนสัญญาณ) ขึ้นเป็นครั้งแรก ทหารเหล่าทัศนสัญญาณจึงได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๓

- ทรงจัดตั้งหน่วยฝึกพลทหารที่บางพระเพื่อพัฒนาศักยภาพของกำลังพลให้มีความรู้ความสามารถ และมีความสามัคคี

- ทรงจัดระเบียบราชการกรมทหารเรือขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติศักดินาทหารเรือ ร.ศ.๑๑๒ เรียกว่า ข้อบังคับการปกครอง

- ทรงจัดทำโครงการป้องกันประเทศทางด้านทะเลขึ้น ตามคำขอของสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนนครสวรรค์วรพินิต ชื่อว่า “ระเบียบจัดการป้องกันฝ่ายทะเลโดยย่อ”

- ทรงปรับปรุงการศึกษาของโรงเรียนนายเรือให้เจริญก้าวหน้าขึ้น ทรงพระดำริเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีนายทหารฝ่ายช่างกล เพื่อรับผิดชอบหม้อน้ำและเครื่องจักรต่างๆ ในเรือ ตลอดจนการงานฝ่ายช่างกลในโรงงานบนบกแทนชาวต่างประเทศที่จ้างไว้ จึงทรงเปิดโรงเรียนช่างกลขึ้น โปรดให้นักเรียนนายเรือฝึกหัดภาคปฏิบัตินอกเหนือจากการเรียนภาคทฤษฎี

- ทรงกำหนดโครงการและขั้นตอนสำหรับการศึกษาของนายทหารสัญญาบัตรขึ้นเป็นครั้งแรก และทรงไปดูแลหลักสูตรและเข้าสอนด้วยพระองค์เอง

- ทรงนำนักเรียนนายเรือและนักเรียนนายช่างกล ประมาณ ๑๐๐ คน ไปอวดธงที่สิงคโปร์ ปัตตาเวีย ชวาและเกาะบัลลิทันโดยเรือมกุฎราชกุมาร (ลำที่ ๑) ในการเดินทางไปต่างประเทศครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก และพระองค์ทรงเป็นผู้บังคับการเรือเอง พร้อมด้วยนักเรียนและทหารประจำเรือ ซึ่งล้วนแต่เป็นคนไทยทั้งสิ้น นับเป็นเกียรติแก่ทหารเรือไทยเป็นอย่างมาก เพราะชาติที่เป็นเอกราชเท่านั้นจึงจะมี “ธงราชนาวี” ของตนเองได้

- ทรงคิดแบบตราสามสมอใช้กับประกาศนียบัตรนักเรียนนายเรือ ต่อมากองทัพเรือดำริให้เครื่องหมายสามสมอสามตัวรวมกันเป็นรูปกลม ใช้เป็นเครื่องหมายของโรงเรียนนายเรือโดยเฉพาะ

- ทรงดำริว่านักเรียนนายเรือควรฝึกช่วยเหลือราษฎรด้วย จึงทรงจัดตั้งกองดับเพลิงของทหารเรือขึ้น การปฏิบัติงานของกองดับเพลิงนั้นได้รับคำชมเชยอยู่เสมอ

- ทรงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นความสำคัญและโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวังเดิมให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ต่อมาเมื่อโรงเรียนนายเรือได้ย้ายไปอยู่ที่ปากน้ำ กองทัพเรือก็ได้ใช้พระราชวังเดิมเป็นที่ตั้งของหน่วยราชการต่างๆ ในส่วนบัญชาการกองทัพเรือจวบจนปัจจุบัน

- ทรงเสนอความเห็นต่อที่ประชุมสภาบัญชาการกระทรวงทหารเรือว่า “สมควรเริ่มตั้งกองบินทะเลขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๖๕ โดยใช้สัตหีบเป็นถาน (ฐานทัพ)” ซึ่งสภาบัญชาการฯ มีมติอนุมัติข้อเสนอเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันสถาปนาหน่วย และชาวบินนาวีได้ถือว่าพระองค์ทรงเป็นองค์บิดาแห่งการบินนาวีด้วย

- พระองค์ทรงเป็นนักยุทธศาสตร์ที่เห็นการณ์ไกล พระองค์ได้ทูลเกล้าขอพระราชทานที่ดินบริเวณอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อสร้างเป็นฐานทัพเรือ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานที่ดินที่สัตหีบให้แก่กองทัพเรือ เพื่อจัดตั้งเป็นฐานทัพเรือ

- ทรงเปลี่ยนสีเรือรบจากสีขาวเป็นสีหมอกให้เหมือนกับเรือรบต่างประเทศ ซึ่งกองทัพเรือได้นำสีดังกล่าวมาใช้เป็นสีเรือทุกลำของกองทัพเรือตราบจนปัจจุบัน

- พระองค์ทรงนิพนธ์เพลงที่มีเนื้อหาปลุกใจให้รักชาติ กล้าหาญ ยอมสละชีวิตเพื่อชาติ อาทิ เพลงดอกประดู่ เพลงเดินหน้า เพลงดาบของชาติ เป็นต้น

- พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าด้านการแพทย์แผนโบราณอย่างจริงจัง ทรงเขียนตำรายาและทรงรักษาโรคภัยไข้เจ็บแก่คนทั่วไป โดยไม่คิดค่ารักษาพยาบาล จนเป็นที่นับถือของบุคคลทั่วไป ในนาม “หมอพร”

ด้วยพระกรุณาธิคุณที่พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงทำคุณประโยชน์ให้แก่กองทัพเรืออย่างมหาศาลนั้น ทำให้กองทัพเรือ เจริญก้าวหน้ามาจนถึงทุกวันนี้ ทหารเรือทุกคนต่างระลึกถึงพระกรุณาธิคุณและถวายสมัญญานาม พระองค์ท่านว่า “องค์บิดาของทหารเรือไทย” และถือเอาวันที่ ๑๙ พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันอาภากร

Comments

Popular posts from this blog

กง.ทร.พัฒนาระบบ E-mobile Slip ใช้ตรวจสอบข้อมูลใบจ่ายเงินเดือนผ่านสมาร์ทโฟน

เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ข้าราชการกองทัพเรือ กองทัพเรือ โดยกรมการเงินทหารเรือ ได้พัฒนาระบบ E-mobile Slip เพื่อให้ข้าราชการกองทัพเรือสามารถตรวจสอบข้อมูลใบจ่ายเงินเดือนได้ด้วยตนเองผ่านทางระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Smart Phone) ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้ เข้าลงทะเบียนผู้ใช้งานครั้งแรก เพื่อตั้งค่ารหัสผ่านในเว็บไซต์กรมการเงินทหารเรือที่ http://info.navy.mi.th/finance แบนเนอร์ “สลิปเงินเดือน” หลังเข้าลงทะเบียนผู้ใช้งานแล้ว โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ Android สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมผ่าน Play Store โดยค้นหาคำว่า “e-slip” และติดตั้งโปรแกรมในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ iOS ให้เปิด Browser และเข้าเว็บไซต์ http://www.finance.navy.mi.th/mobile_https หรือด้วยการสแกนผ่านบาร์โค้ดในเว็บไซต์กรมการเงินทหารเรือ จากนั้นจึงเข้าใช้งานด้วยรหัสผู้ใช้งานเป็นเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก และรหัสผ่านที่ตั้งไว้ ข้อมูล กง.ทร. ๒๘ ก.ย.๕๙

ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุสมเด็จพระปิ่นเกล้า งานสวัสดิการ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ

โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ได้เปิดศูนย์ดูแลผู้สูงอายุสมเด็จพระปิ่นเกล้า “พฤฒเวชโฮมแคร์” ให้บริการดูแลผู้สูงอายุ โดยทีมงานคุณภาพมาตรฐาน เพื่อความสุขสบายของคนที่คุณรัก ภายในบรรยากาศที่อบอุ่นเสมือนบ้าน รับผู้สูงอายุชาย – หญิง อายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป            นอกจากนั้นยังจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ ตามสภาพร่างกาย และความเหมาะสมของผู้เข้ารับการบริการ เช่น การทำบุญตักบาตร การสวดมนต์ การสนทนา โดยใช้หลักจิตวิทยาเพื่อเป็นการกระตุ้นการทำงานของสมอง การออกกำลังกาย กิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีบริการแพทย์ตรวจเยี่ยม ๒ ครั้งต่อเดือน แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูตรวจเยี่ยม ๑ ครั้งต่อเดือน พยาบาลวิชาชีพเยี่ยมประเมิน ๔ ครั้งต่อเดือน ผู้ที่สนใจติดต่อได้ที่ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุสมเด็จพระปิ่นเกล้า งานสวัสดิการ โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน แขวงบุคคโลเขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์หมายเลข ๐๖ ๑๖๑๕ ๒๖๕๒ และ ๐๘ ๖๓๘๒ ๗๖๙๙                                                                         ข้อมูล รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ

กิจการการฌาปนกิจสงเคราะห์แห่งราชนาวีให้บริการจัดการศพแบบครบวงจร

ฌาปนสถานกองทัพเรือ วัดเครือวัลย์วรวิหาร ให้บริการจัดการศพแบบครบวงจร โดยให้คำแนะนำในการแจ้งเสียชีวิตและจัดการศพ, ติดต่อประสานงานกับการฌาปนกิจสงเคราะห์แห่งราชนาวี, จัดหาหีบศพพร้อมรถบริการรับ-ส่งศพ, จัดหาดอกไม้ประดับหน้าศพและพวงหรีด, จัดหาเครื่องไทยธรรมพร้อมดอกไม้ถวายพระ, จัดหาอาหารและเครื่องดื่ม, จัดหาดอกไม้จันทน์พร้อมช่อเชิญประธาน และติดต่อแนะนำสถานที่ในการลอยอังคาร สอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๖๕ ๑๐๑๓, ๐ ๒๔๗๕ ๕๑๖๒, ๐ ๒๔๗๕ ๓๒๑๙ ข้อมูล กิจการการฌาปนกิจสงเคราะห์แห่งราชนาวี ๑๔ พ.ค.๕๘