Skip to main content

ผบ.ทร.เป็นประธานในพิธีปล่อย “เรือหลวงแหลมสิงห์” ลงน้ำ

พลเรือเอก ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ปืนลงน้ำ และ คุณณุฉัตรา จันทร์สุวานิชย์ ภริยา เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือ เมื่อวันที่ ๒๕ ส.ค.๕๘ ณ กรมอู่ทหารเรือ กองทัพเรือได้จัดหาเรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่ เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ระยะปานกลางตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ พุทธศักราช ๒๕๕๑-๒๕๖๐ ซึ่งได้ทยอยปลดประจำการและใช้ปฏิบัติงานร่วมกับเรือ อากาศนาวี หน่วยกำลังต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง หน่วยกำลังนาวิกโยธิน และหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ตั้งแต่ในภาวะปกติ โดยมีขีดความสามารถปฏิบัติการรบ ๒ มิติ ได้แก่ การปฏิบัติการสงครามผิวน้ำและการต่อสู้ภัยคุกคามทางอากาศ โดยกองทัพเรือจัดซื้อแบบแปลนรายละเอียดและพัสดุสำหรับการสร้างเรือตรวจการณ์ปืนจาก บริษัท มาร์ซัน จำกัด ในลักษณะ Package Deal โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น ๖๙๙,๔๕๙,๐๐๐ บาท และมอบหมายให้กรมอู่ทหารเรือเป็นหน่วยรับผิดชอบในการสร้างเรือ ใช้พื้นที่ของอู่ทหารเรือธนบุรีเป็นสถานที่ต่อเรือ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและการพึ่งพาตนเอง และเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของกรมอู่ทหารเรือในการต่อเรือตรวจการณ์ปืน หลังจากที่กรมอู่ทหารเรือประสบความสำเร็จในการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.๙๙๑ และนำไปสู่การปรับปรุงเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.๙๙๔ ที่ได้มีการขยายแบบเรือและรูปทรง ตามพระบรมราชวินิจฉัย และล่าสุดคือ เรือหลวงกระบี่ ซึ่งเป็นเรือประเภทเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งที่มีขนาดใหญ่และสมรรถนะสูง การสร้างเรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่นี้ กรมอู่ทหารเรือได้ดำเนินการต่อเองโดยแบ่งการสร้างเรือ ออกเป็น ๒ ระยะ ระยะแรกทำการต่อเฉพาะตัวเรือ รวมถึงระบบเครื่องจักร ณ อู่แห้งหมายเลข ๑ อู่ทหารเรือธนบุรี มีระยะมีระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ ๑๓ เดือน และหลังจากที่ได้ปล่อยเรือลงน้ำแล้ว จะนำตัวเรือไปทำการประกอบในส่วน superstructure (หอบังคับการเรือ เสาสื่อสาร) รวมถึงระบบอาวุธ ณ อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ โดยในระยะที่ ๒ นี้ มีระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ ๑๐ เดือน (ถึงกลางเดือนมิถุนายน ๒๕๕๙) จึงกล่าวได้ว่า กองทัพเรือได้ใช้ศักยภาพและความรู้ความสามารถของกำลังพลกองทัพเรือ ในการดำเนินการติดตั้ง ทดสอบ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ แม้ว่าจะใช้แบบเรือของบริษัทเอกชน แต่ถือเป็นการดำเนินการในการสร้างเรือขนาดใหญ่อีกลำด้วยการพึ่งพาตนเอง ตามระเบียบของกองทัพเรือได้กำหนดหลักเกณฑ์การตั้งชื่อเรือรบตามประเภทของเรือ โดยในส่วนของเรือตรวจการณ์ (ปืน) กำหนดให้ตั้งชื่อตามอำเภอชายทะเล โดยเรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่นี้ กองทัพเรือได้ขอพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “เรือหลวงแหลมสิงห์” คาดว่าจะดำเนินการสร้างแล้วเสร็จ ประมาณเดือนมิถุนายน ๒๕๕๙ มีคุณลักษณะที่สำคัญคือ ยาว ๕๘ เมตร กว้าง ๙.๓๐ เมตร กินน้ำลึก ๒.๕๐ เมตร ระวางขับน้ำสูงสุด ๕๒๐ ตัน ทำความเร็วสูงสุดได้ไม่น้อยกว่า ๒๓ นอต (ที่ระวางขับน้ำสูงสุด) มีระยะปฏิบัติการในทะเลไม่น้อยกว่า ๒,๕๐๐ ไมล์ทะเล มีความคงทนทะเลจนถึงสภาวะทะเลระดับ ๔ (SEA STATE 4) โดยที่ตัวเรือมีความแข็งแรงเพียงพอที่สภาวะทะเลระดับ ๕ (SEA STATE 5) มีสถานที่จัดเก็บเสบียงอาหาร และระบบน้ำจืดเพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานในทะเลต่อเนื่องไม่น้อยกว่า ๗ วัน โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุง มีห้องพักและที่อาศัยเพียงสำหรับกำลังพลประจำเรือ จำนวน ๕๓ นาย ในส่วนของระบบอาวุธประจำเรือที่สำคัญ คือ ปืนขนาด ๗๖/๖๒ มิลลิเมตร ปืนกลขนาด ๓๐ มิลลิเมตร ปืนกลขนาด .๕๐ นิ้ว และมีพื้นที่ดาดฟ้าท้ายเรือกว้างขวาง สามารถติดตั้งอุปกรณ์หรือยุทโธปกรณ์อื่นๆ อาทิ อาวุธนำวิถีได้ในอนาคต เรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่นี้ จะเข้าประจำการในกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ มีภารกิจในการตรวจการณ์ ลาดตระเวน ป้องกันการแทรกซึมในทะเล คุ้มครองเรือประมงและเรือพาณิชย์ ป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รักษากฎหมายในทะเลตามอำนาจหน้าที่ที่กองทัพเรือได้รับมอบหมาย การถวายความปลอดภัยแด่พระบรมวงศานุวงศ์ รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่างๆ ตลอดจนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลและชายฝั่ง สำหรับพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เป็นพิธีที่มีมาตั้งแต่ครั้นโบราณกาล เมื่อถึงเวลาปล่อยเรือเดินทะเลลงน้ำจะต้องทำพิธีเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตัวเรือเสียก่อน ปัจจุบันพิธีปล่อยเรือลงน้ำแบบสากลให้สุภาพสตรีเป็นผู้ประกอบพิธี ในส่วนของกองทัพเรือพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เฉพาะที่มีหลักฐานปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลงน้ำเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๕๔ ส่วนเรือหลวงที่สร้างจากต่างประเทศที่มีหลักฐานปรากฏ ได้แก่ เรือหลวงคำรณสินธุ์ ประเภทเรือพิฆาต มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๔๕๓ ณ อู่กาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น สำหรับเรือหลวงที่ตัวเรือเป็นเหล็ก สร้างโดยกรมอู่ทหารเรือ ที่มีพิธีปล่อยเรือลงน้ำเป็นครั้งแรก คือ เรือหลวงสัตหีบ (ลำที่ ๑) โดย คุณหญิง วิจิตรา ธนะรัชต์ ภริยา จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ในขณะนั้น) เป็นสุภาพสตรีผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๐๐ ข้อมูล สลก.ทร. ๒๕ ส.ค.๕๘

Comments

Popular posts from this blog

ศูนย์แบบเบ็ดเสร็จข้าราชการกองทัพเรือนอกประจำการ (One Stop Service : OSS)

  ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จข้าราชการกองทัพเรือนอกประจำการ ได้เปิดที่ทำการอาคารศูนย์แบบเบ็ดเสร็จข้าราชการกองทัพเรือนอกประจำการ ( One Stop Service : OSS) หรืออาคารสภาเรือแห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพื้นที่วังนันทอุทยาน ถนนอิสรภาพ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โดยเป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จข้าราชการกองทัพเรือนอกประจำการเพื่อช่วยเหลือ แนะนำ และอำนวยความสะดวกแก่ข้าราชการกองทัพเรือที่ลาออกจากราชการและเกษียณอายุราชการ รวมทั้งทายาท ให้สามารถเข้าถึงการบริการด้านสิทธิกำลังพลได้อย่างสะดวกและรวดเร็วโดยการรวมจุดบริการมาไว้เพียงจุดเดียว อาทิ การเบิกเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาคุณภาพการสวัสดิการและการบริการให้กับกำลังพลและครอบครัว เพื่อให้มีขวัญกำลังใจและคุณภาพชีวิตที่ดี   โดยได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารสภาเรือ เมื่อวันที่ 4 ส.ค.60 ที่ผ่านมา   และเรียนเชิญผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้แทน เป็นประธานในพิธีเปิดอาคาร ศูนย์แบบเบ็ดเสร็จข้าราชการกองทัพเรือนอกประจำการ ในวันที่ 8 พ.ค.61 สำหรับอาคารสภาเรือ ที่สร้างขึ้นนี้   มีรูปแบบการดำเนินการ ใน 3 ส่วนคือ 1. ด...

กง.ทร.พัฒนาระบบ E-mobile Slip ใช้ตรวจสอบข้อมูลใบจ่ายเงินเดือนผ่านสมาร์ทโฟน

เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ข้าราชการกองทัพเรือ กองทัพเรือ โดยกรมการเงินทหารเรือ ได้พัฒนาระบบ E-mobile Slip เพื่อให้ข้าราชการกองทัพเรือสามารถตรวจสอบข้อมูลใบจ่ายเงินเดือนได้ด้วยตนเองผ่านทางระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Smart Phone) ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้ เข้าลงทะเบียนผู้ใช้งานครั้งแรก เพื่อตั้งค่ารหัสผ่านในเว็บไซต์กรมการเงินทหารเรือที่ http://info.navy.mi.th/finance แบนเนอร์ “สลิปเงินเดือน” หลังเข้าลงทะเบียนผู้ใช้งานแล้ว โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ Android สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมผ่าน Play Store โดยค้นหาคำว่า “e-slip” และติดตั้งโปรแกรมในโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ iOS ให้เปิด Browser และเข้าเว็บไซต์ http://www.finance.navy.mi.th/mobile_https หรือด้วยการสแกนผ่านบาร์โค้ดในเว็บไซต์กรมการเงินทหารเรือ จากนั้นจึงเข้าใช้งานด้วยรหัสผู้ใช้งานเป็นเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก และรหัสผ่านที่ตั้งไว้ ข้อมูล กง.ทร. ๒๘ ก.ย.๕๙

กิจการศูนย์กีฬาวังนันทอุทยานกองทัพเรือ กำหนดเปิดการเรียนการสอนเทนนิสและว่ายน้ำในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน

กิจการศูนย์กีฬาวังนันทอุทยานกองทัพเรือ กำหนดเปิดการเรียนการสอนเทนนิสและว่ายน้ำ ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน แก่บุตรของกำลังพลกองทัพเรือ และเยาวชนทั่วไป ทั้งนี้เพื่อให้เยาวชนใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ตั้งแต่วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๑ – วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๑ ณ สนามเทนนิสและสระว่ายน้ำ กิจการศูนย์กีฬาวังนันทอุทยานกองทัพเรือ ถนนอิสรภาพ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร            ** เทนนิส เปิดสอนระหว่างเวลา ๐๘.๐๐ น. – ๑๐.๐๐ น.            ** ว่ายน้ำ เปิดสอนระหว่างเวลา ๐๙.๐๐ น. – ๑๑.๐๐ น. และ ๑๔.๐๐ น. – ๑๖.๐๐ น. สมัครและ           สอบถามรายละเอียดได้ที่ ห้องประชาสัมพันธ์ อาคารศูนย์กีฬานันทอุทยานกองทัพเรือ ภายในพื้นที่ส่วนบัญชาการกองทัพเรือ ตรงข้ามโรงเรียนชิโนรสวิทยาลัย ถนนอิสรภาพ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๔๗๕ ๔๙๐๒ และ ๐ ๒๔๗๒ – ๐๘๕๓ ตั้งแต่เวลา ๐๗. ๐๐ น. – ๒๐.๐๐ น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ หรือที่ facebook.com/wungnunthasport           ...