พลเรือเอก ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายทหาร นายตำรวจ และข้าราชการ ให้การต้อนรับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางตรวจเยี่ยมท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ตำบลพลา อำเภอบ้างฉาง จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ ๒๒ มิ.ย.๕๙ เวลา ๐๘๓๐ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ประชุมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในเรื่องแนวทางการดำเนินงานของการท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ณ ห้องประชุมสถานีการบิน กองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะ เยี่ยมชมศูนย์ซ่อมอากาศยานการบินไทย อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ และท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ
สำหรับท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นสนามบินหลักของกำลังอากาศนาวี ก่อสร้างเสร็จและเปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๙ นับจนถึงปัจจุบันสนามบินอู่ตะเภาได้เปิดใช้งานมาแล้ว ๕๐ ปี และด้วยตำบลที่ และขนาดของสนามบิน โดยเฉพาะความยาวและความแข็งแรงของทางวิ่ง (Runway) ทางขับ (Taxiway) และลานจอด (Apron) ทำให้สนามบินอู่ตะเภาสามารถรองรับอากาศยานได้ทุกประเภท รวมถึงเครื่อง Airbus 380 ที่เป็นเครื่องบินโดยสารที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน หรือเครื่องบิน Antronov 225 ซึ่งเป็นเครื่องบินขนส่งที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งสามารถขึ้น-ลงสนามบินอู่ตะเภาได้อย่างปลอดภัย
จากศักยภาพดังกล่าวทำให้รัฐบาลเพิ่มวัตถุประสงค์การใช้งานท่าอากาศยานอู่ตะเภาจากการใช้งานทางทหารเพียงอย่างเดียว เป็นให้สามารถรองรับการใช้งานทางพลเรือนด้วย โดยเริ่มจากการประกาศให้เป็นสนามบินสำรองของท่าอากาศยานดอนเมืองเมื่อปี ๒๕๑๗ ต่อมาประกาศให้เป็นสนามบินศุลกากร (ใช้ขนส่งสินค้าได้) เมื่อปี ๒๕๑๙ จนกระทั่งเมื่อปี ๒๕๓๒ กระทรวงคมนาคมได้ประกาศให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นท่าอากาศยานนานาชาติโดยมีกองทัพเรือเป็นผู้บริหารงาน และจากการที่ธุรกิจท่องเที่ยวมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการเดินทางโดยเครื่องบินเป็นที่นิยมมากขึ้น รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น โดยร่วมกับกองทัพเรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม และอาคารสถานที่ของท่าอากาศยานอู่ตะเภา นอกจากนี้การขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินทำให้มีความต้องการด้านการซ่อมบำรุงสนามบินเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจึงมีนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศ ทั้งเรื่องการตั้งนิคมซ่อมบำรุงอากาศยาน การพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานด้านต่างๆ ตามแผน New S-curve ซึ่งท่าอากาศยานอู่ตะเภาจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาดังกล่าว ด้วยตำบลที่ที่รายล้อมด้วยนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ และขนาดของสนามบินดังที่กล่าวแล้วข้างต้น
จากการวางแผนเพื่อรองรับนโยบายรัฐบาลในการเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร และการเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน กองทัพเรือจึงมีแนวคิดในการเสริมความแข็งแกร่งในเรื่องดังกล่าว และใช้ศักยภาพที่มีอยู่เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินอย่างครบวงจร โดยจัดเตรียมแผนงานสำหรับการส่งเสริมให้ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นศูนย์การขนส่งสินค้าทางอากาศ และเป็นศูนย์ฝึกบุคลากรด้านธุรกิจการบิน ทั้งการฝึกนักบิน ช่าง และบุคลากรสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากดำเนินการได้ครบถ้วนจะทำให้ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นท่าอากาศยานที่ให้บริการด้านอุตสาหกรรมการบินอย่างครบวงจร ทั้งนี้การวางแผนในเรื่องดังกล่าวได้คำนึงความรวดเร็วในการเริ่มดำเนินการ และการลงทุนเฉพาะในเรื่องที่จำเป็น โดยพิจารณาใช้โครงสร้างสนามบินที่มีอยู่แล้ว อาทิ การจัดวางผังพื้นที่คลังสินค้าให้สามารถใช้ลานจอดเครื่องบินขนาดใหญ่ที่มีอยู่แล้วได้ทันที และอยู่ในพื้นที่ต่อเนื่องกับศูนย์อุตสาหกรรมซ่อมอากาศยาน รวมทั้งสามารถต่อเชื่อมกับโครงข่ายการคมนาคมภายนอกได้สะดวก การจัดวางพื้นที่ศูนย์ฝึกอบรมให้เชื่อมต่อกับโรงซ่อมอากาศยาน และคลังขนส่งสินค้า เพื่อให้ง่ายต่อการฝึกงานของผู้เข้ารับการศึกษา รวมทั้งการจัดพื้นที่ต่างๆ ให้สามารถเชื่อมต่อกับทางวิ่ง ทางขับ และลานจอด ที่มีอยู่แล้วได้ และหากมีการก่อสร้างเพื่อขยายขีดความสามารถเพิ่มเติมก็ไม่จำเป็นต้องหยุดการดำเนินงานที่มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังได้วางแผนธุรกิจร่วมกับท่าเรือพาณิชย์สัตหีบเพื่อเชื่อมโยงการขนส่ง ทั้งสินค้าและนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งต่างๆ ได้ ซึ่งกองทัพเรือเชื่อมั่นว่าหากการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา และท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ เดินหน้าอย่างสอดคล้องประสานกัน จะช่วยกระตุ้นให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การขนส่งของอาเซียนได้ในอนาคตอันใกล้
ข้อมูล สลก.ทร.
๒๒ มิ.ย.๕๙
ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จข้าราชการกองทัพเรือนอกประจำการ ได้เปิดที่ทำการอาคารศูนย์แบบเบ็ดเสร็จข้าราชการกองทัพเรือนอกประจำการ ( One Stop Service : OSS) หรืออาคารสภาเรือแห่งใหม่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพื้นที่วังนันทอุทยาน ถนนอิสรภาพ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โดยเป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จข้าราชการกองทัพเรือนอกประจำการเพื่อช่วยเหลือ แนะนำ และอำนวยความสะดวกแก่ข้าราชการกองทัพเรือที่ลาออกจากราชการและเกษียณอายุราชการ รวมทั้งทายาท ให้สามารถเข้าถึงการบริการด้านสิทธิกำลังพลได้อย่างสะดวกและรวดเร็วโดยการรวมจุดบริการมาไว้เพียงจุดเดียว อาทิ การเบิกเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาคุณภาพการสวัสดิการและการบริการให้กับกำลังพลและครอบครัว เพื่อให้มีขวัญกำลังใจและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารสภาเรือ เมื่อวันที่ 4 ส.ค.60 ที่ผ่านมา และเรียนเชิญผู้บัญชาการทหารเรือ หรือผู้แทน เป็นประธานในพิธีเปิดอาคาร ศูนย์แบบเบ็ดเสร็จข้าราชการกองทัพเรือนอกประจำการ ในวันที่ 8 พ.ค.61 สำหรับอาคารสภาเรือ ที่สร้างขึ้นนี้ มีรูปแบบการดำเนินการ ใน 3 ส่วนคือ 1. ด...
Comments